วันเสาร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2551

เรื่องของรองเท้าแปลก ๆ ที่สร้างโดยคนแปลก ๆ


ในบรรดาแฟชั่นเครื่องประดับประดาร่างกายของคนเรานั้น รองเท้าเป็น อย่างหนึ่งล่ะที่เป็นสิ่งเชิดหน้าชูตา รวมทั้งจะต้องมีวิวัฒนาการให้ทันสมัยอยู่เสมอ เช่นเดียวกับเสื้อผ้าแพรพรรณ รองเท้าก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน บางครั้งรองเท้าที่ประดับเพชรนิลจินดา ยังมีสนนราคาแพงเริดยิ่งกว่าเสื้อผ้าแพรพรรณหลายเท่าตัว
นายแกรี่ กรีนวูดส์ ช่างทำเครื่องหนัง คนดังของออสเตรเลีย คงนึกสนุกขึ้นมาจึงได้ออกแบบรองเท้าพิสดารปลายงอนยาวเฟื้อยขึ้นมา น่าคิดว่าคนออกแบบเพี้ยนไปซะมากกว่า เอ...แต่ที่เพี้ยนกว่าคนออกแบบก็คือคนที่ซื้อรองเท้านี้ไปใส่นั่นแหละ ที่เห็นในรูปน่ะเป็นตัวอย่างที่ทำขึ้นคู่เดียวในโลก ในข่าวไม่ได้บอกว่าราคาคู่ละเท่าไหร่ แต่เชื่อเหอะว่า ค่าหนังบวกค่าความคิดฝีมือและชื่อเสียงของนายแกรี่เข้าไปด้วย คำนวณแล้วคงเป็นจำนวนที่น่าตกใจเชียวละ
ไหนๆก็ตกใจเพราะเรื่องราคาแล้ว มาตกใจกันจริงๆซะเลยเป็นไงครับ เคยเห็นรึยังรองเท้าราคาสองล้านบาทน่ะ? ก็ฉลองพระบาทของจักรพรรดิโบกัสซ่า ผู้เคยยิ่งใหญ่อยู่ในแอฟริกากลาง ซึ่งเดี๋ยวนี้เสด็จตกจากบัลลังก์ไปเรียบร้อยแล้ว...ที่จริงฉลองพระ บาทคู่นี้แบบก็เรียบๆ ธรรมดาๆ ไม่วิจิตร พิสดารอย่างใด ทว่าความแพงมันอยู่ที่สิ่งประกอบอันเป็นไข่มุกแท้ๆ จำนวนประมาณ 4,000 เม็ด ดังนั้น ราคาจึงต้องตกในราว 85,000 ดอลลาร์!!!
ประวัติศาสตร์ของรองเท้าย้อนหลัง ไปนานเนิ่น สมัยไอยคุปต์ตอนต้นเมื่อห้าพันปีก่อนก็มีการสวมรองเท้ากันแล้ว เป็นรองเท้าแตะแบบคีบ ครั้นมาถึงสมัยกรีก รองเท้าจะมีเส้นสายรัดพันให้กระชับกับเท้ามากขึ้น แต่มาวิลิศมาหรามากก็ตอนในยุคโรมันครองโลก



ชาวโรมันโบราณเขาสวมรองเท้าบูตเชียวนา... รองเท้าบูตของคนสำคัญขึ้นไปจนถึงจักรพรรดิโรมันนั้น ประดับประดาสวยเก๋มาก ใครมีตำแหน่งหน้าที่สำคัญแค่ไหน ดูจากรองเท้าได้เลย อย่างเช่นองค์จักรพรรดิจะสวมฉลอง พระบาทบูตหนังสีม่วง อันเป็นสีแห่งขัตติยราชโรมัน ประดับประดาด้วยลวดลายทองคำ, เพชรพลอย, ไหมทอง, ขนสัตว์ และรูปอันแสดงถึงอำนาจ เช่น หน้าสิงห์ เป็นต้น บางคู่ถึงกับทำด้วยทองคำและงาช้าง เวลาเสด็จไปทางไหนคงหนักพระบาทพิลึก สำหรับระดับขุนพลหรือข้าราชการตำแหน่งใหญ่ๆ จะสวมบูตสั้นกว่าของจักรพรรดิ ทำด้วยหนังสีแดง ส่วนซีเนเตอร์หรือสมาชิกสภาโรมันสวมรองเท้าสีดำประดับนิดหน่อยพองาม ชาวบ้านธรรมดาก็สวมแบบธรรมดาตามตำแหน่งอันธรรมดาๆของตน คือ แบบแตะที่มีระโยงระยางคล้ายรองเท้ากรีกนั่นแหละ
ผู้คนทางตะวันออกสมัยโบราณส่วนมากสวมรองเท้าปลายงอน ดูจากรองเท้าเทวดาของไทยๆก็ได้ ปลายงอนเช้งโดยได้รับอิทธิพลมาจากอินเดีย ส่วนชาวตะวันออกกลางซึ่งแพร่ อารยธรรมบางอย่างให้กับยุโรปก็สวมรองเท้า ปลายงอนเหมือนกัน จึงไม่น่าแปลกอะไรที่ฝรั่งมังค่าในยุคกลางจะสวมรองเท้าปลายงอนไปตามๆกัน แต่ทว่าเมื่อลอกเลียนแบบคนตะวันออกไปใช้แล้ว คงอายว่าไม่มีไอเดียของตนกระมัง จึงดัดแปลงปลายรองเท้าให้ยาวเฟื้อยยิ่งกว่าต้นตำรับเดิม ยาวเสียจนคนสวมต้องจับปลายรองเท้าไปผูกไว้ใต้เข่า เพราะปลายรองเท้านั้นยาวเรียวแหลมตั้ง 2 ฟุต
ทีนี้คงทราบแล้วนะครับว่าแบบรองเท้าสมัยใหม่ที่นายกรีนวูดส์แกออกแบบมาน่ะ ได้ไอเดียมาจากรองเท้าปลายแหลมในยุคกลางนี่เอง แสดงว่าของอะไรที่ว่าใหม่ๆ จะว่าไปแล้วหาใช่ใหม่เอี่ยมเรี่ยมเร้ เสมอไปหรอกครับ
แฟชั่นรองเท้าเปลี่ยนไปยังกับหน้ามือเป็นหลังเท้าในราว 500 ปีต่อมา แฟชั่นรองเท้าเปลี่ยนจากปลายยาวแหลมเปี๊ยบเป็นปลายสั้นทู่มะลู่และบานแผ่พิลึก คน ในยุคนั้นเรียกรองเท้าร่วมสมัยว่าเป็นแบบ “อุ้งตีนหมี” บ้าง “ปากเป็ด” บ้าง ผู้นำแฟชั่นคนสำคัญคือพระเจ้าเฮนรี่ที่ 8 แห่งอังกฤษ ที่นิยมฉลองพระบาทแบบนี้ยิ่งกว่าใครๆ ก็เพราะพระองค์น่ะทรงทรมานด้วยโรคเกาต์เป็นประจำ ฉลอง พระบาทแบบปลายบานแฉ่งทำด้วยผ้าหรือขนสัตว์นุ่มๆ จึงเหมาะมาก ว่ากันว่าฉลองพระบาทพระเจ้าเฮนรี่ ที่ 8 น่ะ บานแฉ่งถึง 10 นิ้ว ในขณะ ที่รองเท้าคนอื่นบานแค่ 6 นิ้วเอง


สตรีในสมัยนั้นไม่ได้สวมรองเท้าบานแฉ่งเป็นอุ้งตีนหมีด้วยหรอก แต่ สวมรองเท้าที่เรียกว่า “ชอฟีนส์” (Chopines) ซึ่งพิลึกพิสดารกว่ารองเท้าคุณผู้ชายแยะเลย พื้นรองเท้านี้สูงมากครับ บางคู่สูงถึง 2 ฟุต นึกไม่ออกเล้ย...ว่าคุณเธอเดินไปได้ยังไง แต่พอเห็นรูปเข้าก็ร้องอ๋อ กุลสตรีมากยศเหล่านี้เดินคนเดียวตามลำพังไม่ได้หรอก ต้องมีพี่เลี้ยงเดินเคียงกายไปด้วย เพื่อให้ คุณเธอยืนพยุงในยามที่เตาะแตะไปบนพื้นรองเท้าแบบนี้
ผู้ชายในศตวรรษที่ 17 ก็มีแฟชั่นรองเท้าหรู ตอนแรกรองเท้าผู้ชายเป็นแบบบูตสูงเกือบถึงสะโพก เพื่อป้องกันความหนาว ต่อมาแฟชั่นรองเท้าหดสั้นลงและปลายข้างบนก็บานออก เวลาฝนตกใส่ก็สนุกมาก คือมีน้ำฝนขังเป็นลิตรๆเชียวครับ แต่ก็มีประโยชน์ตรงใช้เก็บสมบัติส่วนตัว รองเท้าปลายบานแบบนี้มักประดับประดาด้วยลูกไม้และริบบิ้นหรูหรา รับกับหมวกและปกเสื้อที่ประดับลูกไม้เริ่ด



พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ผู้สร้างพระราชวังแวร์ซายส์ นับเป็นผู้นำแฟชั่นในยุโรป ยุคนั้น ถึงแม้จะยิ่งใหญ่เกรียงไกรเป็น อธิราชผู้ลือพระนาม แต่พระเจ้าหลุยส์ ที่ 14 ทรงมีพระวรกายเตี้ยมากครับ คือ สูงแค่ 5 ฟุต 4 นิ้ว หรือ 163 ซม. เท่านั้น จำเป็นต้องเสริมให้พระวรกายสูงระหงขึ้น ดังนั้น ฉลองพระบาทของหลุยส์ที่ 14 จึงเป็นแบบส้นสูง (มากๆ) ประดับประดาด้วยเพชร, พลอย, ริบบิ้น, โบ ลูกไม้ และรูปเขียน พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 โปรดโบมาก ฉลองพระบาทคู่โปรดมีโบใหญ่ถึง 16 นิ้วเชียวครับ เท่านั้นยังไม่สมพระทัย พระองค์โปรดให้จิตรกรวาดภาพลงบนส้นฉลองพระบาทคู่โปรด โดยเขียนเป็นรูปเหตุการณ์ในสงครามที่พระองค์ได้พิชิตมา
ในยุคนั้น ข้าราชสำนักไม่ว่าเตี้ยหรือสูงก็พากันสวมรองเท้าส้นสูงตามพระราชนิยมไปตามๆกัน กลายเป็นแฟชั่นรองเท้าผู้ชายแห่งศตวรรษที่ 17 ซึ่งคนยุคหลังเห็นแล้วอมยิ้มไปตามๆกัน ชาติต่างๆล้วนมีรองเท้าอันเป็นเอก-ลักษณ์ประจำชาติแตกต่างกันไป ด้วยรูปทรงแปลกๆตามแต่วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนในชาตินั้นๆ เรียกได้ว่า รองเท้านี้มีวิวัฒนาการและแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปของแต่ละยุคสมัย ทั้งยังแสดงตัวตนของผู้สวมใส่ได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น: